Baanchuanchom. Powered by Blogger.




ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีสำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา อันสืบเนื่องมากจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายนหรือ14 เมษายนของแต่ละปี อย่างไรก็ตามประเพณีปีใหม่เมืองจะกินเวลาประมาณ 4-7 วันยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่นๆ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันสังขารล่อง วันเนาว์ วันพญาวัน วันปากปี หรือบางท้องที่ก็ไปจบที่วันปากเดือนหรือวันปากวัน

  การดำหัว ในความหมายทั่วไปของชาวล้านนาไทยนั้นหมายถึงการ "สระผม" แต่ในพิธีกรรม โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ของทุก ๆ ปี หมายถึง การชำระสะสางสิ่งอันเป็นอัปมงคลในชีวิตให้วิปลาสปราดไป ด้วยการใช้น้ำส้มป่อยเป็นเครื่องชำระ
   
พิธีกรรมในการดำหัวในเทศกาล สงกรานต์ล้านนา มี 3 กรณี คือ

กรณีแรก ดำหัวตนเอง คือทำพิธีเสกน้ำส้มป่อยด้วยคำที่เป็นศิริมงคล เช่น "สัพพทุกขา สัพพภยา สัพพโรคาวินาสันตุ" แล้วใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะ

กรณีที่สอง ดำหัวผู้น้อย เช่น ภรรยา บุตร หลาน อันเป็น พิธีกรรมต่อเนื่องจากกรณีแรก คือ ใช้น้ำส้มป่อยลูกศีรษะภรรยา บุตร หลาน หลังจากดำหัวตนเอง หรือการที่ตนเองรับน้ำส้มป่อย (ในกรณีที่สาม) มาลูบศีรษะตนเองเสร็จแล้วสลัดใส่ศีรษะ หรือลูบศีรษะผู้ที่มาดำหัวตนเอง

กรณีที่สาม ดำหัวผู้ใหญ่ เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ พระเถระ ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น กรณีนี้อาจไปดำหัวด้วยตนเอง บางครั้งอาจพาญาติพี่น้องไปเป็นกลุ่ม หรือไปเป็นคณะโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของชุมชน

การดำหัวในกรณีที่สามนี้ ถือเป็นประเพณีที่สำคัญยิ่ง ถือได้ว่าเป็นประเพณีที่สามารถจรรโลงความสันติสุขให้กับสังคม ได้เป็นอย่างดี การดำหัวผู้ใหญ่ด้วยตนเองอาจจะไม่มีพิธีรีตองมากนัก แต่การดำหัวผู้ใหญ่ที่ต้องไปเป็นหมู่คณะ ย่อมมีกิจกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น

ประเพณีขนทรายเข้าวัด
ประเพณีขนทรายเข้าวัด การขนทรายเข้าวัดของประชาชนล้านนาไทยมีมาแต่โบราณแล้ว การขนทรายอาจแตกต่างกันไปบ้าง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ , เชียงราย , ลำพูน เป็นต้น นิยมขนทรายในวันเนาว์ หรือวันที่ 14 เมษายน แต่ที่จังหวัดน่านนิยมขนทรายในวันพญาวัน คือ วันที่ 15 เมษายนบางแห่งก็นิยมขนทรายกันในวันสังขารล่องด้วยการขนทรายจึงนิยมกันทั้ง 3 วัน คือวันสังขารล่อง วันเนาว์ และวันพญาวัน แต่ที่นิยมกันมากที่สุดคือวันเนาว์


สาเหตุแห่งการขนทรายเข้าวัดการขนทรายเข้าวัดมีสาเหตุหลายประการคือ
  1. วัด มีการก่อสร้างถาวรวัตถุ เช่น โบสถ์ วิหาร เป็นต้น สมภารจึงขอแรงชาวบ้านที่ยังหนุ่มและสาวช่วยกันขนทรายเข้ามากองไว้ในคราวเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นวันที่ชาวบ้านว่างงานการทั้งหลาย และน้ำในแม่น้ำแต่ละสายแห้งขอดเขินเนินทรายสามารถนำทรายขึ้นฝั่งได้ง่าย
  2. คน สมัยก่อนไม่นิยมสวมรองเท้าเข้าวัดทิ้งรองเท้าไว้นอกวัด ต้องเดินเท้าเปล่าเข้าวัด ขึ้นไปบนวิหาร วัดที่มีทรายมากย่อมไม่เปื้อนเท้าเพราะทรายมากย่อมไม่เปื้อนเท้าเพราะทราย เป็นเครื่องเช็ดถูเปอะตมได้เป็นอย่างดี
  3. ทำให้ภายในวัดวาอารามไม่เป็นเปอะตมเฉอะแฉะ ประชาชนสามารถเดินเข้าไปมาได้สะดวก ในคราวมาทำบุญ
  4. วัดเป็นสถานที่รื่นรมย์ที่เรียกกันว่าอาราม การมีทรายอยู่ในวัดมาก ทำให้วัดสะอาดน่าอยู่ ประชาชนจึงนิยมขนทรายเข้าไปในวัดกันเสมอมา
  5. วัด ที่มีทรายมากป้องกันไม่ให้หญ้าขึ้น หรือมีหญ้าขึ้นบ้างก็ถอนง่ายกว่าหญ้าที่ขึ้นบนดินล้วน ๆ วัดทุกวัดของล้านนาจึงนิยมนำทรายเข้าวัดเพื่อป้องกันหญ้าขึ้น
ประวัติและตำนานเกี่ยวกับเจดีย์ทราย
ในตำนานเมืองหริภุญชัยกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทไว้บนที่หาดทรายเป็นวาลุกเจดีย์ ณ แม่น้ำมนที ในคัมภีร์ธรรมของล้านนาไทยกล่าวว่า “ในสมัยที่พระพุทธเจ้าเป็นชายสามัญมีนามว่า ติสสะ เป็นคนเข็ญใจยากไร้ หาเช้ากินค่ำ เลี้ยงชีวิตด้วยการรับจ้างตัดฟืนขาย แต่เป็นผู้มีศีลธรรมดี เป็นที่รักของประชาชนชาวบ้านมาก วันนี้ติสสกุมารเดินทางออกจากบ้านไปสู่กลางป่าแห่งหนึ่ง มีลำธารไหลผ่านมีหาดทรายขาวงดงามนัก มีจิตปสาทะอยากจะทำบุญจึงได้เอาทรายมาก่อเป็นเจดีย์ ฉีกเสื้อที่ตนสวมอยู่นั้นเป็นยอดธงปักลงบนพระเจดีย์ทรายนั้น และตั้งอธิษฐานว่า อิมินา ปุญญกมเมนาหํ วาลุกเจติยํ กตรา สุขีอตตานํ ปริหรนโต นิพพานปจจโยมหิ เม นิจจํ ด้วยอำนาจบุญกรรมกุศลการก่อพระเจดีย์ทรายนี้ขอให้ข้าพเจ้าได้บริหารตนให้มี ความสุขและเป็นปัจจัยแห่งพระนิพพานเจ้าเถิด และขอให้ข้าพเจ้านั้นได้เป็นพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์โลก เมื่อพระโพธิสัตว์ติสสะบำเพ็ญบารมีเต็มที่เต็มถ้วนแล้ว ก็ได้มาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย



ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์
การแห่ไม้ค้ำสลี หรือการแห่ไม้ค้ำต้นโพธิ์  ไม้ค้ำดังกล่าวอาจได้มาจากไม้ง่ามที่ใช้ในพิธีสืบชาตาหรือไม้ค้ำที่จัดหา ขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องในการถวายทานในเทศกาลสงกรานต์ การที่ได้นำเอาไม้ค้ำไปค้ำที่ต้นโพธิ์นี้ อาจจัดเป็นสัญลักษณ์หมายความว่าผู้นั้นมีส่วนในการค้ำชูพระพุทธศาสนา
ที่อำเภอจอมทอง เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ก็จะนัดหมายให้ชาวบ้านร่วมกันไปหาไม้ค้ำซึ่งจะมีขนาดใหญ่แล้วตกแต่งให้งาม จากนั้นจึงทำพิธีแห่ไม้ค้ำนั้นร่วมขบวนกันเพื่อไปถวายวัดและนำไปค้ำต้นโพธิ์

เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ทุกคนควรจะทำพิธีสืบชาตาของตนเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่ตนเองได้มีชีวิตอย่าง มีความสุขผ่านพ้นไปอีกหนึ่งปีและเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง อุปกรณ์ส่วนหนึ่งในพิธีสืบชาตาราศีดังกล่าวคือไม้ที่มีง่ามขนาดต่างๆ สุดแล้วแต่ความพอใจ แต่ขอให้เป็นไม้ที่มีลักษณะเป็นง่ามแล้วนำไปเข้าพิธีสืบชาตา เสร็จแล้วจะนำไปตั้งค้ำต้นโพธิ์ที่อยู่ใกล้บ้าน ส่วนมากจะนำไปค้ำต้นโพธิ์ต้นใหญ่ที่มีอยู่ตามวัดต่างๆ
ในตอนเริ่มแรกก่อนที่ พิธีการดังกล่าวจะถูกยึดถือปฏิบัติจนกลายมาเป็นประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์อย่าง ทุกวันนี้ ประชาชนยังไม่มีความคิดที่จะทำร่วมกัน ต่างคนต่างไปจัดหาและทำพิธีสืบชาตาราศีแล้วนำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์เอง ต่อมาเมื่อได้ทำเป็นประจำทุกๆ ปี นานๆ เข้าพอถึงวันที่ ๑๐-๒๐ เมษายนของทุกปี ประชานก็ได้รวมกันเป็นหมวด เป็นหมู่บ้าน เป็นตำบล ต่างจัดหาไม้ง่ามที่มีลักษณะดีงามแล้วนำมาตกแต่งลงสีวาดลวดลาย ประดับกระดาษสี จากนั้นจึงนำขึ้นเกวียนแห่ไปทำพิธีค้ำต้นโพธิ์ในวัด ในช่วงที่แห่ไปนั้น นอกจาจะมีผู้คนทั้งผู้เฒ่าผู้แก่หนุ่มสาวเข้าขบวนที่แต่งกายงดงามตามประเพณี และที่ขบวนแห่ก็จะมีดนตรีบรรเลงตลอดเส้นทางเพื่อให้หนุ่มสาวที่มาร่วมขบวนสนุกสนานกับการเต้น สองข้างทางที่ขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ง่ามจะมีการรดน้ำดำหัวอวยชัยให้พรกัน สนุกสนานไปด้วย